จาก 'ฝันซ้อนฝัน' ในอินเซปชั่น ผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลนได้แสดงผลงานอีกครั้งใน Interstellar ที่ผมขอนิยามตามในเว้ฐผู้จัดการบ้างว่าเป็น 'เวลาซ้อนเวลา'
จากชื่อเรื่อง มั่นใจว่าทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาเราออกสู่อวกาศอันกว้างใหญ่อย่างแน่นอน ทว่า การจะเดินทางสู่อวกาศนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายๆชนิดเดินออกไปเปิดประตูหน้าบ้านแล้วเจอดาวเสาร์แน่ๆล่ะ มันมีทฤษฎีมากมายที่เราควรรู้ก่อนออกสู่อวกาศไปพร้อมๆกับเรื่องนี้
1. ทฤษฎีรูหนอน (Wormhole)
อย่าเพิ่งไปนึกถึงรูที่มีหนอนยั้วเยี้ยอาศัยอยู่ภายในหรืออะไรทำนองนั้นเชียว รูหนอนในที่นี้ เรียกง่ายๆว่าเป็นทางลัดในอวกาศครับ
ลองนึกภาพว่าอวกาศเป็นกระดาษซักแผ่น แล้วเราทำเครื่องหมายไว้ที่ครึ่งบนและครึ่งล่างอย่างละที่ เราจะพบว่ามันห่างกันมาก ถ้าเปรียบว่ากระดาษทั้งแผ่นนั้นคืออวกาศ แต่เราลองพับกระดาษให้เครื่องหมายทั้งสองจุดอยู่ทับกันพอดี แล้วเอาดินสอแทงทะลุเข้าไปสิครับ นั่นแหละรูหนอน เปรียบง่ายๆ มันก็ประหนึ่งประตูวิเศษของโดราเอมอนนั่นเอง
2. ขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon)
แน่นอนว่าหลายๆคนคงรู้จักหลุมดำกัน ซึ่งเจ้าขอบฟ้าเหตุการณ์นี่ก็เป็นอะไรที่ใกล้ตัวหลุมดำสุดๆนั่นแหละครับ ก็จะไม่ให้ใกล้ได้ยังไง ในเมื่อมันคือรัศมีของแสงที่หนีไม่พ้นหลุมดำนั่นเอง
เพราะว่าแสงไม่สามารถหนีรอดออกมาจากหลุมดำได้ ทำให้เรามองไม่เห็นใจกลางของมัน เราจึงเรียกมันว่าหลุมดำ ส่วนขอบฟ้าเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดอยู่รอบหลุมดำอันเนื่องจากแรงดึงดูดอันมหาศาลของมัน ทุกสิ่งที่ก้าวเข้าไปในขอบฟ้าเหตุการณ์นี้ เวลาจะช้าลงจนกระทั่งหยุดนิ่ง แสงนับล้านปีจะอัดตัวกันอยู่ในนั้น เรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของหลุมดำก็ว่าได้
3. เวลาที่ไม่เท่ากัน
เวลาบนโลกกับเวลาในอวกาศนั้นไม่เท่ากันครับ โดยเวลานั้นจะขึ้นอยู่กับแรงโน้มถ่วงและความเร็ว เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่านักบินที่เดินทางกลับจากอวกาศจะแก่ช้ากว่าคนบนโลก หรืออีกตัวอย่างก็คือ นาฬิกาในกระสวยอวกาศนั้นจะช้ากว่านาฬิกาอ้างอิงบนโลกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยิ่งแรงโน้มถ่วงสูงเท่าไหร่ เวลาก็จะยิ่งช้าลงครับ และนั่นเองที่ทำให้เวลาในขอบฟ้าเหตุการณ์เดินช้าลงจนถึงหยุดนิ่ง แรงดึงดูดอันมหาศาลของหลุมดำคือคำตอบ
4. มิติที่ 5
สำหรับเราๆทั้งหลายแล้ว โลกเรามีเพียง 3 มิติเท่าที่รู้จักกัน อันได้แก่ สูง กว้าง และลึก สินะครับ หากแต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ได้มีการเพิ่ม เวลา เข้ามาเป็นมิติที่ 4 ด้วย ทั้งนี้ ในทางฟิสิกส์แล้ว มิติมีมากกว่านั้นครับ โดยในภาพยนตร์ได้มีการเพิ่มมิติที่ 5 ขึ้นมา ถ้ามองง่ายๆก็เป็นมิติที่เราสามารถมองย้อนกลับไปยังอดีตได้ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ประยุกต์เอาทฤษฎีเส้นเชือกมาใช้ในนี้เพื่อส่งผ่านข้อความกลับไปด้วยนั่นเอง
ปัจจุบันสร้างอดีต ก่อนที่จะเปลี่ยนอนาคต
เป็นอะไรที่นิยามคำว่า เวลาซ้อนเวลา ได้ตรงตัวที่สุดเท่าที่ผมให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วล่ะครับ
คุ้มค่าจริงๆที่ได้ดู :)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น