หลังจากที่มีการประกาศยกเลิกทรงผมนักเรียนชาย-หญิง
จากเดิมที่ตัดเกรียนและสั้นเสมอหู มาเป็นตัดรองทรงและให้เลือกผมสั้นหรือผมยาวแล้ว
นักเรียนไทยก็ได้ดีใจกันอีกครั้งเมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ครูลดการบ้านเด็กพร้อมลดการสอบลง
จนเกิดเป็นประเด็นร้อนที่มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคอยถกเถียงกันหนาหู
หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ
ทำไมไม่เอาเวลาไปแก้ปัญหาสังคมที่เกลื่อนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด
แต่จะมีสักกี่คนที่มองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังสังคมเป็นวงกว้างได้
เหมือนกับสุภาษิตจีนที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ Butterfly Effect นั่นเอง
Butterfly
Effect คืออะไร
หลายคนน่าจะพอคุ้นหูกับคำว่า
“ผีเสื้อขยับปีก” หรือ Butterfly Effect อยู่บ้าง ซึ่งที่มาของคำคำนี้มาจาก เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ลอร์เรนซ์ นักวิทยาศาสตร์
และนักอุตุนิยมวิทยาชาวสหรัฐ ผู้บุกเบิกทฤษฎีโกลาหล (Chaos Theory) ในยุคแรกๆ
“ผีเสื้อขยับปีก” เป็นวลีง่ายๆ ที่ใช้อ้างถึงทฤษฎีโกลาหล ซึ่งมีความละเอียดทางเทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก
โดยตัวทฤษฎีเองกล่าวถึง ตัวแปรเล็กน้อยที่เป็นเงื่อนไขแรกของระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ
อาจส่งผลต่อตัวแปรขนาดใหญ่ในพฤติกรรมระยะยาวของระบบได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อผีเสื้อขยับปีกหนึ่งครั้งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศ
ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลให้เกิดพายุทอร์นาโด เท่ากับว่า การขยับของปีกผีเสื้อ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในเงื่อนไขของระบบนิเวศ
แต่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ขนาดใหญ่
แล้ว Butterfly Effect
เกี่ยวอะไรกับการที่เด็กนักเรียนไทยจะมีการบ้านให้ทำน้อยลง?
ปีกผีเสื้อที่เริ่มขยับไหว
เหตุเกิดขึ้นในวันที่ 29 มกราคม
พ.ศ. 2556 เมื่อนาย ชินภัทร
ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าจะมีการปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544
ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ตามนโยบายของนาย พงศ์เทพ
เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ระยะ ในระยะที่ไม่เร่งด่วนจะพิจารณาเรื่องมาตรฐานและตัวชี้วัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ซึ่งเปรียบเทียบเนื้อหาและเวลาเรียนของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ รวมถึงจะหยิบประเด็นที่มีนักวิชาการวิจารณ์ว่าเนื้อหาในการเรียนมีความซ้ำซ้อนกันมาหารือด้วย
ส่วนนโยบายระยะเร่งด่วนคือการลดภาระของนักเรียนจากการบ้านในห้องเรียน ซึ่ง
สพฐ.จะเน้นบูรณาการทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดและประเมินผล ตลอดจนการบ้าน
ให้มีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชา รวมทั้งลดภาระงานของนักเรียนด้วย เพราะที่ผ่านมาเด็กไทยต้องทำการบ้านเยอะมาก
ทำให้เกิดความเครียด โดยถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะทำให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556
และนโยบายเร่งด่วนนี้เองที่จะเปรียบได้กับปีกเล็กๆของผีเสื้อที่เริ่มขยับไปมา
เป็นเพียงประเด็นเล็กๆในสังคมที่หลายคนเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะปรับเปลี่ยนในจุดนี้
แต่สิ่งใดจะตามมาหลังจากที่ผีเสื้อเริ่มขยับปีก?
สายลมที่เริ่มแปรปรวน
ข้อถกเถียงเรื่องการลดการบ้านและการสอบยิ่งหนาหูขึ้นทุกที
ยิ่งถกเถียงกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแตกประเด็นออกไปมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องความเครียดของเด็ก
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือแม้กระทั่งคำนิยามของการบ้าน
ในปัจจุบันแล้ว
ความคิดเห็นถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย
โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยที่ลดการให้การบ้านนักเรียน
ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยนั้นก็ให้เหตุผลต่างๆกันออกไป โดยมากแล้วจะเน้นเหตุผลที่ว่า
ทำให้เด็กมีเวลาว่างเพื่อไปอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมต่างๆมากขึ้น
ทำให้เด็กเครียดน้อยลง
ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็โต้แย้งกลับมาด้วยเหตุผลที่ว่า
การบ้านทำให้เด็กมีความรับผิดชอบมากขึ้น ฝึกให้เด็กได้ทบทวนบทเรียนต่างๆ
และบางส่วนก็เห็นว่า ถึงลดการบ้านลงเพื่อให้เด็กมีเวลามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว
อย่างไรเด็กก็ไปเรียนพิเศษต่ออยู่ดี ในขณะที่เด็กบางคนก็ใช้เวลาไปเล่นเกมหรือทำกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์
ที่ปกติแล้วการบ้านจะลดเวลาในส่วนนี้ลง
ส่วนอีกฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายที่รอดูผลของนโยบายลดการบ้านนี้ต่อไปเงียบๆโดยไม่ได้แสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างเด่นชัด
บางคนต้องการให้ดูก่อนว่าที่ว่าลดการบ้านนั้นลดลงเท่าไหร่
ช่วยให้เด็กมีความรู้มากขึ้นหรือไม่
ผลกระทบจากปีกผีเสื้อเล็กๆเริ่มส่งผลกว้างขึ้นทีละน้อย
จนประเด็นนี้เริ่มเข้ามาเป็นที่สนใจของคนในสังคมเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดเห็นที่แตกต่างถูกนำมาแสดงตอบโต้กันอย่างต่อเนื่อง
บ้างเห็นพ้องต้องกัน บ้างคัดค้านหัวชนฝา บ้างก็รอดูผลลัพธ์อยู่เฉยๆ
สุดท้ายแล้วสายลมแห่งเหตุการณ์นี้จะพัดไปทางทิศใด?
พายุใหญ่ที่เริ่มก่อตัว
เพราะการศึกษาคือรากฐานของอนาคต
สำหรับการลดการบ้านและการสอบของนักเรียนไทยลงนี้อาจเป็นได้ทั้งการทำให้อนาคตของพวกเขารุ่งโรจน์
หรืออาจทำให้อนาคตของพวกเขาดับลงก็เป็นได้เช่นกัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางระบบของนโยบายนี้ว่ามีคุณภาพมากแค่ไหน
อีกทั้งบรรดาเด็กนักเรียนเหล่านี้
ในอนาคตจะเป็นผู้ที่ขึ้นมาพัฒนาบ้านเมืองและสังคมของประเทศไทยต่อไป
ซึ่งมันจะดำเนินไปด้วยดีหรือร้ายนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาที่พวกเขาได้รับในปัจจุบัน
ถ้าพวกเขามีความรู้ความเข้าใจในการเรียนมากขึ้นกว่าเดิม
ก็เรียกได้ว่านโยบายลดการบ้านนี้ประสบผลสำเร็จ
ซึ่งจะทำให้เราได้ผู้มีความสามารถที่เชื่อถือได้เข้ามาพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต
แต่ถ้าหากนโยบายนี้กลับทำให้นักเรียนขาดความรู้ความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม
จะเป็นความล้มเหลวที่ใหญ่พอจะทำให้สังคมในปัจจุบันถดถอยลงไปอีก
ซึ่งหลายๆคนคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า
นโยบายด้านการศึกษาต่างๆที่หลายคนเห็นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยนั้น
สามารถส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างในอนาคตได้เช่นเดียวกับการที่ผีเสื้อกระพือปีกแล้วก่อให้เกิดพายุตามหลักการของ
Butterfly
Effect
โดยในท้ายที่สุดแล้ว
นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่
นักเรียนไทยจะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นตามที่คาดหวังหรือเปล่า?
ก็ขึ้นอยู่กับการวางระบบของนโยบายลดการบ้านนี้
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูเล็กน้อยเพียงใด
แต่เรื่องที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนี้
กลับเป็นตัวแปรสำคัญในอนาคตบ้านเมืองในประเทศไทยเราเลยทีเดียว
สุดท้ายแล้ว มันจะเป็นสายลมที่พัดมาให้ชื่นใจ
หรือจะกลายเป็นเป็นพายุใหญ่ที่พัดทำลายทุกอย่าง?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น